ไม่ง่ายที่จะเป็น THE ARCHIVIST
Studio นี้ เกิดจากการที่ทำงานพิมพ์ควบคู่ไปกับงานประจำและงานฟรีแลนซ์กราฟิก ทำงานภาพพิมพ์นี้มา 1 ปี จนพวกเรามั่นใจว่าเราอยู่และทำกับมันได้ จึงออกจากงานประจำ ค่อยๆ เลิกรับงานออกแบบ มาโฟกัสกับสตูดิโอจนถึงทุกวันนี้
8 ปีที่ผ่านมา เราตั้งชื่อนี้เพราะว่าชอบความหมายของชื่อ The Archivist เหมือนเป็นคนที่ทำหน้าที่ Archive สิ่งต่างๆ ซึ่งพวกเราตั้งใจมาก เวลาพวกเราพิมพ์งานอะไรออกมา เราจดบันทึกตลอดว่าเราพิมพ์งานนี้ลงบนกระดาษอะไร มันจะมีรายละเอียดต่างๆ ที่เราต้องเก็บควบคู่ไปกับการทำงาน พร้อมกับเก็บภาพที่เราพิมพ์ จึงเป็นที่มาของชื่อ The Archivist
Silkscreen ฉันเลือกนาย!
สำหรับเราคิดว่ามันเป็นอะไรที่ตรงสายกับที่เราเรียนมากที่สุด มันมีการตัดทอน ต้องวางแผน มันค่อนข้างมีการคิดที่ต้องใช้ระบบระเบียบในการทํางาน ว่าอะไรอยู่ก่อนอะไรมาหลังในการพิมพ์ มันค่อนข้างเป็นวิธีที่ทำให้เราได้ทดลอง ได้ประยุกต์ ได้เลือกใช้กระดาษได้กับงานหลายรูปแบบ
ถ้าให้เปรียบเทียบตัวเองกับอุปกรณ์การทำงาน…เราคิดว่าเป็นเหมือนแว่นขยาย เพราะปกติเราพิมพ์งานเราก็จะเห็นว่ามันสมบูรณ์แล้ว แต่พอเข้ามาส่องใกล้ๆ แล้วก็จะเห็นความผิดปกติของงาน อาจจะมีเหลื่อมนิดนึง
พอเรายิ่งทำ เราก็ต้องยิ่งเหมือนแว่นขยาย ก็คือ พอเราทำงานเยอะขึ้น เราก็รู้ได้เลยว่าตรงนี้มันต้องปรับยังไง น่าจะเหมือนบุคลิกที่เราค่อยๆปรับเปลี่ยนและกลายมาเป็นตัวเรามากที่สุด จากการทำ Studio นี้
******
All by myself
รูปแบบการทำงานคนเดียว เราคิดว่ามันเป็นธรรมชาติของคนที่เรียนภาพพิมพ์นะ เพราะหลายๆ อย่างมันต้องดูด้วยตัวเองทั้งหมด เราต้องขยับอะไร ยังไง เราจะรู้ด้วยตัวของเราเอง ไม่ว่าจะเป็นกระดาษ สีที่เราใช้ ลำดับขั้นตอนการทำงาน เราจะรู้ด้วยตัวของเราเองจากประสบการณ์
ช่วงที่มีน้องๆ ฝึกงาน เราก็ได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับคนอื่น ซึ่งเป็นการฝืนธรรมชาติของคนที่เป็น Introvert แบบมินมาก และมันทำให้รู้ว่าการทำงานด้วยตัวเองมันดีกว่า เพราะว่าการที่มีคนอื่นเข้ามา มันทำให้เราไม่สามารถปล่อยงานให้เขาทำได้แบบ 100% เหมือนคนเป็น OCD เป็นคนบ้า*หัวเราะ
ไม่มีอะไรอัศจรรย์ใจเท่ากับ “ครั้งแรก”
ความรู้สึกของมินในครั้งแรกกับการลองทำ Silkscreen คือ “มัน เจ๋ง มาก” ข้อสงสัยเต็มหัวไปหมด สีมันออกมาอีกฝั่งได้ยังไง ตอนนั้นยังไม่เข้าใจว่างานพิมพ์แบบนี้ทำยังไง บล็อคมันหน้าตาแบบนี้ แล้วสีมันออกมาได้ยังไงมากกว่า
การทดลองทำภาพพิมพ์ของวุ้นครั้งแรก ก็คือเริ่มทำงานกับมิน รู้สึกสนุกดี แต่วุ้นรู้สึกว่าอยากขายงานของมินมากกว่า อันนี้คือเป็นงานที่มันต้องขาย เก็บไว้ไม่ได้ เพราะมันสวยมาก
“คิดว่าการทำงาน Silkscreen หรืองาน Handcraft มีความสัมพันธ์กับคำว่า ช่วงเวลา หรือไม่?”
เราถูกสอนมาว่าจังหวะในการปาดสีภายในครั้งเดียว ต้องอาศัยแรง สมาธิและจังหวะพร้อมๆ กัน มันต้องใช้ทั้ง 3 สิ่งมหัศจรรย์ในครั้งเดียว และต้องจบ แต่ตอนนี้เราคิดว่ามันเป็นกลไกของร่างกายที่ทำงานโดยอัตโนมัติไปแล้ว เหมือนเรารู้จังหวะของกันและกันแล้ว คนหนึ่งกดบล็อคลง อีกคนต้องปาดสีเลย โดยไม่ต้องมีใครบอกว่าพร้อมไหม
– แรง สมาธิ ครั้งเดียว –
เราใช้คำนี้กับการทำ Workshop ของเรานะ เวลาเราไปสอนใครเราก็บอกว่าต้องมั่นใจ ทีเดียวเลย กดลงไปได้เลยอย่ากลัว แต่มองกลับมาที่ตัวเอง ช่วงที่เราทำ Studio แรกๆ หมึกเยิ้มไปหมด อ่อนประสบการณ์มาก กว่าจะเข้าใจว่าต้องออกแรงแค่ไหน ก็ลองผิดลองถูกหลายครั้งเหมือนกัน ทำจนเข้าที่ เวลาย้อนกลับไปดูงานปี 2013 เรายังคิดเล่นๆ เลยว่า พิมพ์ๆไปได้ไงวะ ห่วยมาก 555555
“การแก้ไข” มักจะยากกว่า “การทำใหม่” เสมอ
– มันพูดออกมาไม่ถูกนะ มันจะไม่มีคำพูดออกมา แต่มันจะเป็นความเงียบมากกว่า 55555 –
ช่วงเวลาที่ทำงานมาได้เกิน 50% หรือมากกว่านั้นแล้ว บางทีเรารู้แล้วว่ามันจะพลาด แต่เราก็จะลองทำก่อน แต่ส่วนใหญ่เราก็ต้องเริ่มทำใหม่ เพราะการแก้ไขมักจะยากกว่าการทำใหม่เสมอ ยอมเหนื่อยเอาดีกว่า เพราะไม่อยากให้งานออกไปแล้วเราจะมาเสียใจทีหลัง เพราะเป็นคนที่ไม่สามารถมีความรู้สึกที่ดีได้ ถ้าส่งหาลูกค้าด้วยงานที่ไม่ดี
ไสยศาสตร์มีอยู่จริงในงานพิมพ์
เคยเลิกทำงานกลางคืนไปช่วงหนึ่งเลย แต่ตอนนี้ก็กลับมาทำงานตอนกลางคืนบ้างแล้ว แต่เลือกที่จะทำงานแบบไม่ได้ใช้แสง ส่วนใหญ่หลอนมาก เพราะกลางคืนเห็นสีนี้สวยมาก แต่ตอนกลางวันสีเมื่อวานที่บอกว่าสวยมาก มันคนละสีกันเลย
บางทีพิมพ์งานแบบเดียวกัน ใช้กระดาษหลากหลายแบบ งานที่ได้ออกมาไม่เหมือนกันเลย เราก็ไม่สามารถตอบได้ว่าเกิดอะไรได้ เราว่าไสยศาสตร์มีอยู่จริงในงานพิมพ์
ไม่ใช่แค่แสงแดดอย่างเดียว มันอีกปัจจัยหนึ่งคือเรื่อความชื้น เวลาที่ฝนกำลังจะตกหรือฝนตกอยู่ กระดาษจะเป็นคลื่นเลย เพราะกระดาษมันควรจะโดนอากาศก่อนแล้วค่อยพิมพ์ถึงจะได้ไม่หด และกระดาษหลายยี่ห้อก็ไม่เหมือนกัน ทุกอย่างเกิดจากการทดลองทำและประสบการณ์มากๆ
ทำงานแบบ Analog — เล่าเรื่องแบบ Digital
เราคิดว่าในเชิงเทคนิคของงานพิมพ์ เทคโนโลยีอาจจะไม่ได้มีส่วนเข้ามาช่วยในขั้นตอนการทำงานเท่าไหร่นัก แต่ส่วนใหญ่เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบันทึก Process การทำงานต่างๆ เพื่อให้คนอื่นเห็นภาพกระบวนการวิธีการทำงานของเรา
ส่วนใหญ่เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยในการสื่อสารทางด้านออนไลน์ หรือเรื่องของการขายของ เช่น การถ่ายภาพ สื่อโซเชียลต่างๆ วิธีเล่าเรื่องให้คนเข้าใจ มันทำให้เราคุยงานกับลูกค้าที่อยู่ต่างประเทศได้ โดยไม่ต้องไปหาถึงที่ และอีกอย่างหนึ่งคือเราไม่สามารถเอาอุปกรณ์การพิมพ์ที่ดีที่สุดเข้ามาใช้ทำงานได้ สิ่งที่เราทำได้มากที่สุดคือการนำมาประยุกต์ใช้ ในรูปแบบของเราให้ได้มากที่สุด
แต่ถ้าถามว่าอยากได้เทคโนโลยีอะไรที่ช่วยในงานพิมพ์มากที่สุด เราคิดว่าเราอยากได้สีที่มีเทคโนโลยีที่ดีกว่านี้ เพราะมันคือส่วนที่เป็นเคมีมากที่สุดในการทำงานภาพพิมพ์ เพราะยุคนี้มันต้อง ECO มาอันดับหนึ่ง แต่งานที่เราทำมันคืองานที่ต้องใช้เคมี เราดมสีทุกวัน เคมีคงไม่เหมาะกับเรา บางยี่ห้อเราก็คงดมมันไม่ได้ทุกวัน สีที่เราใช้ก็อยากให้เป็น Water base ที่ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้
สิ่งพิเศษ…มักจะกลับมาให้เราคิดถึงเสมอ
เรื่องของอดีตกับอนาคต อะไรที่มันเคยฮิตมาก่อน อย่างเช่นแผ่นเสียง หรือกล้องฟิล์ม สุดท้ายมันก็กลับมาให้คนได้ใช้กัน ซึ่งมันไม่ต่างกับงานพิมพ์เลย งานพิมพ์ Digital พิมพ์ได้เร็วจริง แต่ข้อจำกัดมันค่อนข้างเยอะ จนเราไม่สามารถเลือกงานที่มันพิเศษได้ เช่น กระดาษพิเศษ หรือสีพิเศษก็ไม่สามารถใช้กับเครื่องพิมพ์ Digital ได้
การที่เราใช้อุปกรณ์ดั้งเดิมกับเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกในการทำงาน มันสะดวกขึ้นจริง แต่ไม่พิเศษ นับจากแต่ก่อนที่ยังทำงานกันด้วยมือ จนตอนนี้ก็ยังไม่ค่อยเปลี่ยนไปเท่าไหร่ ยอมรับว่าเทคโนโลยีอาจจะยังไม่ Support งานพิมพ์ขนาดนั้น แต่นั่นอาจจะมีเรื่องของการทำงานที่กลับกันซะมากกว่า เพราะสมัยก่อนคนวาดงานลงบนกระดาษและส่งมา Silkscreen แต่สมัยนี้คนวาดงานลงใน IPad แล้วส่งมา Silkscreen แทน
เราเคยเห็นเครื่องทำบล็อคฉายแสงเหมือนกัน มันเร็วจริงแต่ด้วยความที่มันมีข้อจำกัด อาจจะทำให้ได้บล็อคขนาดเล็กมาก สำหรับงานแบบเราเราคิดว่าการทำงานในรูปแบบเดิมมันโอเคมากกว่า ถ้าไม่แน่ใจอะไรเราก็จะไม่อยากเสี่ยง (หัวเราะ)
พองานพิมพ์มันเหมือนกันหมด มันทำให้คนรู้สึกว่ามันน่าเบื่อ จนอยากกลับมาทำงานพิมพ์แบบเก่าที่เราสามารถเลือก และ Custom เองได้ มันก็เหมือนกันกับการที่เรากลับไปฟังแผ่นเสียงเลย แค่มันทำให้สะดวกขึ้น แต่ไม่พิเศษ แต่คนที่เขาดูออกว่ามันต่างกัน เขาก็อาจจะบริโภคทั้ง 2 อย่างอยู่
*****
มันเคยรุ่งโรจน์มาก่อน
เมื่อก่อนโควิด เรารู้สึกว่างานพิมพ์ทางเลือก มันเคยรุ่งโรจน์มาก่อน หลายๆ คนก็คงชอบ และเราก็คิดว่าเราสื่อสารกับกลุ่มคนได้ถูกต้อง อีกอย่างเราโชคดีที่ไม่มีคู่แข่ง ก็เลยมีทางไปต่อได้ อีกอย่างเราโชคดีที่มีลูกค้าต่างชาติเข้ามาสนใจในตัวของ The Archivist
สำหรับเราตอนนี้ การทำงานลูกค้าแบบนี้มันอยู่ได้ เพราะเราปรับตัวน้อยมาก กลายเป็นว่าเราทำงานแบบ WFH กัน ทำให้เราตั้งใจ มีเวลาโฟกัสกับงานมาก และทำงานออกมาได้ดีกว่าเดิม ถ้ายังมีโควิดต่อ แค่รู้สึกว่าเบื่อมาก ผลกระทบหลักของเราคือการส่งของ การส่งของข้ามประเทศเป็นอะไรที่ยากกว่าเดิมมาก ถ้าจะนับว่า Service Print มันยังมีงาน เราก็ยังอยู่ได้ แต่เราก็ไม่รู้ว่าถ้ามันหายไป เราจะอยู่ได้ไหม
ถ้ายังมีแรงพิมพ์ไหว
– ตอนเริ่มทำ The Archivist เราก็เคยคิดว่าเราจะได้พิมพ์งานสนุกๆ คิดว่าต้องได้ทำงานจากต่างประเทศ ตอนนี้เราก็ได้พิมพ์แล้ว และต่อไป เราคิดว่ามันคือการรักษามาตรฐานของงานเรา และพยายามทำให้มันดีต่อไป –
เราคิดว่าเราอาจจะมาครึ่งทาง เพราะเป้าหมายของ The Archivest คือการเก็บงานทุกชิ้นตั้งแต่แรก ถ้าวันที่ถึงจุดสิ้นสุด เราก็จะโชว์งานที่เราทำมาทั้งหมด เพราะมันคือการเดินทางหนึ่งที่เรารู้สึกดีมาก เราได้ทำงานทั่วโลก โดยที่ไม่ได้อยู่ในไทยแค่ภูมิภาคเดียว
เราไม่อยากทำงานให้ศิลปินหรือลูกค้าเพียงกลุ่มเดียว แต่เราอยากทำงานให้ศิลปินๆ อีกมากมายในโลกนี้ ยังมีอีกหลายงานที่เราอยากทำงานได้มากกว่านี้ เรายังอยากเดินไปถึงจุดที่ขายได้หมดเลยภายใน 1 ชั่วโมง 555555