ตอนแรกชื่อแบรนด์โคตรไม่ได้เลย ชื่อ อโฟรไดท์ (Aphrodite) ผมตื่นเช้ามาแล้วเลี่ยนชื่อนี้มาก
เบนซ์ ปัณณรุจน์ เนติพีระพงศ์ creative Director ของแบรนด์ เล่าย้อนถึงที่มาของชื่อแบรนด์
– Palini – ปาลิณีย์ คือชื่อที่หยิบยกมาจากการต้องการหาชื่อที่เราศรัทธา เพราะเหตุจากว่าไม่อยากเอาชื่อตัวเองมาตั้งเป็นชื่อแบรนด์ จึงใช้ชื่อของแม่มาเป็นชื่อแบรนด์ เพราะเรารู้สึกว่าเวลาเราตื่นมา เราก็คงไม่ได้รู้สึกเลี่ยนชื่อนี้แล้วมั้ง*หัวเราะ
ไม่ได้หวังเรื่องศิริมงคลอะไร แต่เวลาแม่ได้ไปคุยกับใคร…ว่าลูกเอาชื่อแม่ไปตั้งเป็นชื่อแบรนด์ ก็คงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขามีความสุขได้ –
พอเขียนเยอะขึ้น ก็เข้าใจอะไรมากขึ้น
เบนซ์ทำงานมาหลายอย่าง เริ่มจากเป็นคอลัมน์นิสที่ Cheeze Looker ซึ่งมีความโชคดีซับซ้อนอยู่หลายเรื่อง โชคดีแรกคือเป็นนิตยสารแฟชั่นผู้ชาย ทำคอลัมน์เกี่ยวกับสัมภาษณ์แบรนด์เหมือนตอนนี้ที่เรานั่งสัมภาษณ์กันอยู่ ชื่อคอลัมน์ TALES OF THE MASTER ใน 1 เล่ม จะมีโอกาสได้คุย 1 แบรนด์ ข้อมูลต่างๆ ของผู้คนในวงการมีทั้งที่อยู่ในกระดาษ และไม่ได้อยู่ในกระดาษที่เราสัมภาษณ์ ซึ่งมันทำให้เรารู้ความเป็นจริงมากกว่าที่สื่อจะตีพิมพ์ได้
ด้วยความที่แต่งตัวจัดจ้านอยู่พอสมควร จนพี่ที่เป็น stylist เวลาเขาไปไหนเขาก็จะเหน็บไปด้วย เจ้านายที่สนิทกันก็เล็งเห็นว่าน่าจะทำ Stylist ได้ โดยเริ่มจากเป็นผู้ช่วยในกองก่อน หลังจากนั้นก็เลยทำ Stylist เต็มตัว นี่น่าจะเป็นความโชคดีถัดมา เบนซ์มีความสุข สนุก และเคารพในอาชีพนี้มาก…แต่มั่นใจว่าทำอาชีพนี้ไม่ได้ทั้งชีวิต การเป็น stylist มี 2 แบบ คนที่ชอบแต่งตัวให้ตัวเอง กับคนที่ชอบแต่งตัวให้คนอื่น ซึ่งเบนซ์เป็นคนชอบแต่งตัวให้ตัวเองมากกว่า
พอถึงจุดหนึ่งรู้สึกว่าเราอยากทำอะไรเป็นของตัวเองสักอย่าง เริ่มคิดก่อนว่าเราสนใจอะไรมากที่สุดในตอนนั้น ช่วงนั้น หมวก คือสิ่งที่สนใจที่สุด เพราะใส่มาตลอด ตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนมัธยมหัวเกรียน ไปจนสมัยมหาวิทยาลัยที่ซึ่งการแต่งกายเขาไม่ได้จำกัดขนาดนั้น จบมาทำงาน เราก็ใส่หมวกมาตลอด
จนกลายเป็นว่าหมวกคืออวัยวะอีกหนึ่งอย่างไปแล้ว ไม่ใช่ว่าถอดไม่ได้แต่รู้สึกว่าเวลาถอดแล้วไม่ครบเครื่อง จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมต้องเป็น “หมวก”
ออฟฟิสของเราอยู่กันเป็นครอบครัว
ตั้งแต่ปี 2015 จนถึงทุกวันนี้ครอบครัว Palini มีสมาชิกทั้งหมด 4 คน เบนซ์ อุ๋ย ทิพย์และเบน ซึ่งทั้ง 4 คนเคยเป็นเพื่อนร่วมงานด้วยกันมาก่อน ทุกคนมีครอบครัวเป็นของตัวเอง เราไม่ได้มาจากที่ห่างไกลกันเท่าไหร่ เพราะเราเป็นพี่เป็นน้องกันมาก่อน เราเลยรู้สึกว่าเราผูกพันกันมากกว่าครอบครัวแล้ว เพราะผมดูแลกันแบบนี้จริงๆ
บางที่อาจจะโพสต์ภาพให้ดูเหมือนเป็นครอบครัว แต่ถ้าอยู่กันแล้วนินทากัน เจ้านายตัดเงินเดือนลูกน้อง ในขณะที่ตัวเองไปเที่ยวต่างประเทศ อันนั้นก็อยากด่าเหมือนกันนะ*หัวเราะ การเป็นครอบครัวไม่ใช่แค่อยู่บนโต๊ะ หรือการโพสรูปบนโซเชียล แต่มันคือการดูแลภาพอนาคตของเขา รับผิดชอบชีวิตเขาด้วย ไม่ใช่แค่การพูด แต่มันต้องดูแลจริงๆ
“ผมไม่ได้อยากทำงานกับคนที่เก่งที่สุด แต่ผมอยากทำงานกับคนที่ผมอยากทำงานด้วย”
ทุกปีทุกคนจะทำแบบสอบถามกัน ว่าแต่ละคนในปีที่ผ่านมารู้สึกยังไง มองภาพข้างหน้าเป็นยังไงบ้าง มันอาจจะดูไร้สาระ แต่มันเป็นสิ่งที่ทำให้รู้จักเพื่อนร่วมงานของเรามากขึ้น ทำงานด้วยกันมานานก็จริง แต่บางอย่างเราอาจจะไม่ได้รู้ Inside ของเขาก็ได้
ทุกคนมีหน้าที่กันอยู่แล้ว ผมเป็นคนดูภาพรวม ดูตัวเลขหลังบ้าน ทั้งที่ไม่อยากยุ่งกับตัวเลข / อุ๋ยทำเรื่องดีไซน์ ทั้งที่ไม่ได้จบมาโดยตรง / ทิพย์เป็น Brand Manager ทั้งคิด Content ออนไลน์ ดูแลร้านออฟไลน์ จัดการสต็อกต่างๆ / เบน ดูเรื่อง Art Direction ซึ่งทุกคนเวลาทำงานก็จะมาสุมหัวทำงานกันหมด เริ่มต้นจากโต๊ะตัวนี้ ประชุมงานกัน คุยงานกันหรือเล่นกัน เจ้านายเก่ายังแซวอยู่เลยว่า…เหมือนแค่แยกออฟฟิศออกมาแล้วทำแบรนด์ของตัวเองที่บ้านแค่นั้นเอง
“Palini ไม่ใช่แบรนด์แฟชั่น แต่มันคือ LifeStyle Brand”
แบรนด์ Palini เริ่มมาจากพื้นฐานของการเป็น Styling มาก่อน ซึ่ง Collection แรกเป็นหมวกฮาวาย เปิดตัวด้วยความชอบล้วนๆ ซึ่งคนอาจจะยังไม่เข้าใจตัวตนของ Palini มากเท่าไหร่ จึงเปิด Collection ที่ 2 ปรับจากหมวกมาเป็นเสื้อผ้าแทน
ต่อมาเริ่มลดทอนความเป็นอโลฮาลง เพราะคนเริ่มคิดแล้วว่าหมวก Palini คือหมวกฮาวาย เบนซ์เริ่มคิดว่ามันมีระยะเวลามากพอสมควร ที่จะพิสูจน์ตัวเองในทางอื่นเหมือนกัน Collection ที่ 3 จึงทำสินค้าให้เรียบหมดเลย ไม่ใช้ผ้าฮาวายเลย ขัดใจลูกค้าและตัวเบนซ์มาก เพราะตอนนั้นภาพจำของแบรนด์ค่อนข้างชัดแล้ว
“something to Believe in”
สโลแกนของแบรนด์ “something to Believe in” มันค่อนข้างหลวมพอสมควร เพราะคำว่า Something มันคืออะไรก็ได้ เพราะส่วนใหญ่ได้ไอเดียมาจากการเดินทาง เราไม่รู้ว่าต่อไปเราจะเจออะไร เราเลยไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
เช่นกันกับการ บอกว่าแบรนด์เป็น Mixed culture เป็นเหมือนการย้ำกับตัวเองด้วยซ้ำ ว่าหลังจากนี้ Palini จะทำอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรม ซึ่งไม่ได้เกี่ยวแค่การกิน การนอนหรือการแต่งตัว หรือแม้กระทั่งสไตล์ของเพลง มันก็คือวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งมันจะ Related กับสิ่งที่สนใจในขณะนั้น มันเกี่ยวกับว่าช่วงนั้นระยะเวลานั้นชอบอะไรเราเจออะไรมากกว่า
*************
Exclusive Item / สีทางเลือก
สินค้า Exclusive ทั้ง 3 ชิ้นนี้ Palini กล้าเล่นสนุกเพราะเป็นเรื่องสีทางเลือก เวลาเลือกสีก็เลือกสีที่ไม่ค่อยได้เห็นทั่วไปตามเทรนด์ของตลาด เบนซ์อยากทำสินค้าที่เป็น Exclusive จริงๆ คงเป็นโมเมนต์นี้แหละที่ได้หยิบสีแบบนี้ออกมาทำ อยากให้มันถูกใจใครหลายๆ คน เพราะไม่ค่อยมีคนเลือกหยิบสีนี้มาใช้ในตลาดตอนนี้
เลือกใช้ทรงหมวกที่เป็น signature ของแบรนด์ Palini เพราะคิดว่าสินค้าจะสื่อสารกับคนได้ง่ายที่สุด อีกชิ้นเป็นทรงหมวกแก๊ป ที่เป็นทรงพิมพ์นิยม พอได้ทำของ Exclusive ก็อยากเล่นให้มันมากที่สุด ปกติตรงปีกหมวกจะเป็นทรงแข็ง แต่สนุกกับการที่เอาพลาสติกตรงปีกออก ซึ่งมีความเป็นตัวตนของแบรนด์มากๆ
อีกทรงหนึ่งก็จะเป็นทรง Newsboy ปกติหมวกใบนี้จะมีแพทเทิร์น 8 ชิ้น แต่ลดทอนลงมาเหลือ 6 ชิ้น และตัดปีกหมวกออก ซึ่งสีนี้หาซื้อที่ไหนไม่ได้นอกจาก The Continuum ส่วนเรื่องผ้าที่เลือกมาใช้จะเป็นผ้าคอร์ดูรอย เพราะมันดูฟูนุ่ม มันให้สัมผัสของ Texture มากกว่า
ทุกวันนี้มันไม่ใช่แค่ offline อย่างเดียวแล้ว
The Continuum เป็นโลกใบใหม่ของ Palini เหมือนกัน เพราะเราโตมาจากโลกออฟไลน์ โตมาด้วยความดื้อด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นโลกออนไลน์ที่เพิ่งมาใหม่ในช่วงนี้เบนซ์จะไม่ค่อยชิน เพราะรู้สึกว่าการซื้อของมันต้องสัมผัสของจริง มันถึงจะมีคุณภาพมากกว่าการซื้อโดยที่ไม่เห็นของจริง
เว็บไซต์ที่มี Layout และมีเรื่องราวในการขาย ไม่เหมือน E-Commerce ทั่วไปที่มีแต่ราคา อันไหนถูกกว่าคนก็สนใจมากกว่า
The Continuum เป็นเว็บไซต์ที่ Slow Down เรื่องตรงนี้ มันทำให้สินค้าแต่ละชิ้นมีความน่าสนใจมากขึ้น อีกเรื่องเป็นเรื่องของ Relation ระหว่างแพลทฟอร์มและตัวแบรนด์เองที่ได้คุยกัน และสื่อสารภาพต่างๆ ออกมาได้มากกว่าการที่แบรนด์โพสต์ขายอย่างเดียว
“ทำไมมึงไม่ส่งหมวกให้ดาราใส่”
เคยมีบางคนถามเบนซ์ว่า “ทำไมมึงไม่ส่งหมวกให้ดาราใส่” ซึ่งเบนซ์ก็ไม่ค่อยสนใจตรงนั้น แต่สุดท้ายดาราซื้อแล้วเอาไปใส่เองจริง แล้ว Palini ก็ได้กลุ่มลูกค้าที่มาจากเขาด้วย
แต่ยังไงก็ยังไม่มีการส่งไปให้โปรโมทเหมือนเดิม แต่ถ้าเขาติดต่อมาที่เรา เราส่งแน่*หัวเราะ
เบนซ์ไม่ได้มองว่า Palini เป็น High Brand ด้วยพื้นฐานของการทำ LifeStyle Brand มันต้องอยู่กับชีวิตจริง ให้มันไปเรื่อยๆ แค่อยากให้แบรนด์ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้มันเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ แค่นั้นเอง
อโฟรไดท์ (Aphrodite) สู่ Palini
สำหรับผม เรื่องบริบทความคิดอาจจะโตขึ้นตามวัย แต่จริงๆ คนใกล้ตัวก็มีผลเหมือนกัน ทั้งแฟน ทั้งเพื่อน เมื่อก่อนเราต้องพยายามไปในทุกๆ ที่เพื่อให้เราเห็นได้มากที่สุด วันหนึ่งมีอีเวนต์ 7 งานก็อยากไปให้หมดทุกงาน กินเหล้า ปาร์ตี้ เฮฮา ทำทุกอย่างที่คนในวัยเรา ณ ตอนนั้น สามารถทำได้ เพราะเรายังไม่มีภาระใดๆ
พอโตขึ้นมาก็เพิ่งรู้ว่าจริงๆ แล้ว ไม่ได้จำเป็นที่จะต้องไปเห็นอะไรที่มากที่สุดขนาดนั้นก็ได้ เบนซ์นิ่งขึ้น อยู่บ้านมากขึ้น ใช้ชีวิตช้าลงกว่าเดิม ซึ่งมันก็เป็นความสุขอีกแบบหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม มองย้อนกลับไป เราคิดว่าชีวิตตอนนั้น มันก็คุ้มมาก เพราะเวลามันวิ่งไปข้างหน้าเรื่อยๆ เราคิดว่าเวลาเราจะทำอะไรก็ทำให้เต็มที่ไปเลย เพราะอนาคตอาจจะไม่ได้ทำ อย่างเช่นอยากแต่งตัวเปรี้ยวแค่ไหนก็แต่งเลย อยากตัด Mohawk ก็ตัด อยากเมาจนอ้วกก็ทำเลย เต็มที่ ไปให้สุดทาง