“ฐากร” Fashion Maker ผู้สร้างปฏิสัมพันธ์กับร่างกายมนุษย์ผ่านงาน Textile จากวัสดุที่คนมองข้าม

by The Continuum

– ภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม มีศาสตร์ที่ให้เด็กเลือกจบเยอะมากซึ่งไม่ค่อยมีเน้นเรื่อง Material เท่าไหร่นัก ซึ่งจุดเริ่มต้นของงานเรา…รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนชอบทำงาน Material ชอบทำงานเทคนิคนี้ เพราะมันมีปฎิสัมพันธ์กับร่างกายมนุษย์มากกว่า เรารู้สึกว่า Textile มันมีความเชื่อมโยงกับ Figure ของร่างกายมนุษย์ –

*****

ไม่ใช่แค่มองเห็น แต่ตรัสรู้ได้เลย

ในปัจจุบันที่เห็นวงการการศึกษา รู้สึกว่ามีความเป็น Fusion Craft (อันนี้นิยามขึ้นเอง) เพราะรู้สึกว่าเด็กที่เรียนออกแบบ จริงๆ แล้ว มีความสนใจงานหัตถกรรมอยู่ไม่น้อย แต่ทำไม่เป็นเท่านั้นเอง เพราะว่าไม่ค่อยมีวิชาเรียนที่เฉพาะเจาะจงที่จะสอนเด็กในเรื่องของหัตถกรรมได้ เพราะฉะนั้นเด็กก็ต้องไปศึกษาจาก Outsource หรือผู้ประกอบการเอง

ปัจจุบันตัวอาจารย์ในมหาวิทยาลัยก็เชื่อมโยงกับผู้ประกอบการกันเอง เวลาที่มี Project อะไรให้เด็กทำ หรือถ้าเด็กสนใจงานอะไร เราจะส่งไปหาผู้ประกอบการในแต่ละที่ที่เฉพาะทาง กลายเป็นว่าเด็กสามารถเรียนรู้เทคนิคและกระบวนการจากผู้ประกอบการได้มากกว่าเรียนในห้องเรียนด้วยซ้ำ

แต่ถามว่าเด็กทำเป็นทุกคนไหม!?  บอกเลยว่า…ไม่

เรารู้สึกว่าปัจจุบันมันคือความ Fusion Craft ซึ่งมองว่ามันก็มีข้อดีนะ เพราะถ้าเหล่านักออกแบบหันมาทำกันเองซะหมด ผู้ประกอบการต่างๆ ก็จะอยู่ไม่ได้ ถ้ามันมาทั้งสองฝั่ง มันก็มีการได้พึ่งพาอาศัยกัน

ฉันนี่ร้องกรี๊ดเลย

การสอนในช่วงโควิด ต้องบอกว่าอยากกรี๊ดเลย ช่วงแรกๆ เครียดมาก แต่คิดไว้เสมอว่าตัวเองไหว ถ้าเด็กไม่ถอดใจ อาจารย์จะถอดใจได้ยังไง!?

แต่ทำไปทำมามันไม่ไหวจริงๆ ประสาทจะเสีย เพราะขนาดเรียนสดในห้อง ยังไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถพูดรอบเดียวแล้วเข้าใจพร้อมกันได้ เรายังต้องมีนอกรอบอีกมากมาย แล้วตอนนี้ต้องสอนกับจอผ่านโลกออนไลน์ ก็คือคูณเข้าไปอีก

แล้วอย่างเวลาเตรียมสอน ก็ต้องเตรียมมากกว่าปกติ เพราะว่าเราต้องทำงานให้เสร็จสมบูรณ์ที่สุด เตรียมของสาธิต เพื่อที่จะเอามาให้เด็กดู วันหนึ่งหมดไปกับการเตรียมงาน ทั้งที่วันหนึ่งมันควรจะได้อะไรมากกว่านี้ พอมันเป็นอย่างนี้ทุกอาทิตย์หลายๆ วัน ก็แอบหมดพลังเหมือนกัน

เกิดจากความชำนาญล้วนๆ

ตอนนี้กำลังอินกับงานแนว Experiment อยากทดลองไปเรื่อย แต่ด้วยความที่เราทำมาสักพัก เรามีความชำนาญระดับหนึ่ง เวลาที่เราจะหยิบจับอะไรมาทำ มันเหมือนกับว่าเราสามารถทำนายได้เลยว่า ถ้าเอาอันนี้มาทำแล้วมันจะให้ผลประมาณนี้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าสำหรับการทดลอง มันก็หมดเงินไปเยอะเหมือนกัน 555555

และตอนนี้ก็กำลังอินกับเรื่องวัสดุแนวที่ต่างกันออกไปอยู่เหมือนกัน ถ้างานทอจะเป็นลักษณะลงไปช่วยชาวบ้านซะส่วนใหญ่ แต่ถ้างานของตัวเองจะใช้เครื่อง Flat Knit เพราะว่ามีเครื่องนี้อยู่ที่บ้าน

Fashion Week ปีแรก

การไปโชว์ Design Week เราก็ไปโชว์ตั้งแต่ปีแรกที่เขาจัดเลยนะ โชว์งานเกี่ยวกับ Texture นี่แหละ แต่ว่าตอนนั้นยังไม่ได้เป็นที่สนใจมากนัก เพราะเรายังใหม่และยังไม่รู้วิธีการ Install ให้คนมาสนใจ หรือให้มันสัมพันธ์กับตัวงานเรา

เราก็ทำไปเป็นแค่ผ้าผืน กลายเป็นว่าไม่ได้ Impact กับคนขนาดนั้น แต่พอหลังๆ มา เราจับทางได้ว่าเราจะต้องสร้าง Impact จาก Material ของเราเอง เราต้องทำยาวๆ เยอะๆ ไว้ก่อน อันล่าสุดถึงแม้ว่ามันจะติดโควิด แต่ผมรู้สึกว่าเหมือนคนพุ่งไปที่ OP Place ซะเยอะ มันก็เลยกลายเป็นว่าคนดูงานเราเยอะ

Sense Of ECO

ตอนแรกไม่ได้ดู Resource ที่เป็นวัสดุจากโรงงานขนาดนี้ แต่พอทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโท เราทำเรื่อง Upcycling ไม่ว่าจะเป็น Upcycling จากหัตถกรรมหรือว่าจาก Industry ก็ตาม เราเริ่มรู้จักมากขึ้น

เราก็เห็นช่องทางมากขึ้นว่าในการผลิตแต่ละครั้งจริงๆ แล้ว Waste มันเยอะมาก เราก็เลยลองขอเขามาลองทำดูก่อน เริ่มจากขอมาเล่นๆ เพื่อทำเองก่อน ทำไปทำมา ทำอยู่กับตัวเองก็ไม่ได้เกิดประโยชน์ ทำเองตัวคนเดียวมันก็ไม่ได้ใช้ปริมาณขนาดนั้น

เราก็เลย Assign ให้มันเป็น Project ของเด็กไปซะเลย ให้เขารู้จักว่าการทำงาน Project หนึ่งไม่ได้ต้องเสียเงินมากมายตลอดไป เอาของที่มันหาได้รอบตัวมาทำงานก็ได้ ถ้าคนมี Creative จริงๆ งานจะออกโดดเด่น

Project แผ่นฟิล์ม

Project นั้นให้ธีมเด็กๆ ไปว่า “ขุมทรัพย์” เพราะเราต้องการเห็นการนำวัสดุที่ไม่ต้องแพงมาใช้ทำงาน

Project นี้มันขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละคน วัสดุชิ้นไหนที่มีคุณค่าทางจิตใจกับตัวเองก็ให้นำมาทำ บางคนฟังเพลง ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำลวดลายเพลง แต่เราทำเรื่องวัสดุ เด็กก็เลยไปซื้อเทปมือสองแล้วเอาไส้เทปมา นั่นคือเรื่องเพลงแล้ว

และงานนี้เด็กก็ต่อยอดมาจาก Project ในห้อง เป็นงานที่ใช้สายวัดตัว เด็กคนนี้บังเอิญว่าวันนั้นเขาไปหยิบสายวัดตัวมาทำ ซึ่งอันละ 20 บาท แล้วเอามาทอลงกี่ขึ้นเฟรมให้เราดู เราก็เลยบอกว่าถ้าจะทำ Final Project ก็ให้ทำอันนี้ต่อ แต่ว่าจะทำยังไงล่ะให้มันแปลกประหลาด?!

เขาก็เลยเอาตาข่ายที่เอาไว้ทำเล้าไก่ แล้วก็เอาสายวัดตัวสอดเข้าไปตามรู เพราะเขารู้ตัวตั้งแต่แรกว่าเขาต้องการจะสร้างชุดที่มีฟอร์มและตาข่ายนี้มันสร้างฟอร์มได้ เขาก็เลยหยิบตาข่ายมาเป็นตัวฐานของ Material แล้วก็เอาตัวสายวัดสอดเข้าไปให้มันเป็น Texture

งาน Craft VS. เด็กหัวก้าวหน้า

เรามองว่าปัจจุบันมันก็เป็นแบบนั้นอยู่ เพราะว่าตัวอาจารย์เองก็ตามงานพวกนั้นเหมือนกัน ปัจจุบันไม่ได้ต้องการเห็นความแมสหรือความ Digital อะไรแล้ว อาจารย์ส่วนใหญ่ไม่ได้อยากเห็นงานเด็กที่ทำด้วยคอมพิวเตอร์ขนาดนั้น อาจารย์ทุกคนอยากเห็นอะไรที่เด็กทำด้วยมือมากกว่า

เพราะเรารู้ว่าเราต้องให้เด็กประหยัดด้วย Save เงินเด็กด้วย เรียนแฟชั่นใช้เงินไม่น้อยเลย เพราะฉะนั้นเด็กควรจะเพิ่ม Creative ให้กับตัวเอง ด้วยการที่หยิบอะไรก็ได้รอบตัว ที่มันไม่แพงและมันไม่ลำบากตัวเอง ที่สำคัญไม่เดือดร้อนพ่อแม่ มาสร้างและ Create ออกมา

ไม่รู้ว่าที่อื่น Concern หรือเปล่า แต่ว่าทางเราด้วยความที่เป็นครูสอน Material ด้วย ปัจจุบันไม่สนับสนุนให้เด็กออกแบบลายผ้า Print กันแล้ว เพราะว่าผ้า Print เป็นผ้าโพลีเอสเตอร์ มันก็คือพลาสติก แล้วสีก็เป็นพิษ แล้วถ้าเกิดว่าสีที่เป็นพิษไปอยู่บนผ้าที่เป็นพลาสติก เวลาทำลาย เผาหรืออะไรก็ตามก็เป็นพิษตามไปอีก

อาจารย์ทุกคนจะ Appreciate กับงานที่เด็กทอเอง จะมีคำถามให้ปะหลาดใจกับเด็กเสมอว่า นี่วาดมือหรอ? เพ้นท์เองหรอ? เพราะฉะนั้นอันนี้ไม่ใช่ปัญหา แต่ในมุมมองของเรื่องผู้ประกอบการ เราก็รู้สึกว่าหัตถกรรมที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยังไม่ตายแน่นอน

มุมมองจากคนแฟชั่นในโลกแฟชั่น(ยุคโควิด)

– หลังจากโควิดมันคงไม่ใช่แฟชั่นตะโกนแล้วล่ะ และมันคงไม่ใช่แฟชั่นที่วิ่งตามความต้องการของคนขนาดนั้น –

ภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นในตอนนี้ มันเปลี่ยนไปมากเลย ในศาสตร์ Textile ก็ยังดีหน่อย แต่ว่าถ้ามันเป็นวิชาหลัก Fashion Design มันจะต้องปรับเยอะเลย

เรามองว่ามันต้องเป็น แฟชั่นที่ช่วยเหลือจุนเจือ ถ้าไม่ช่วยกัน ชาวบ้านที่ทำ Textile เองก็ตาย เราควรจะช่วยกัน เช่นดึงตรงนี้มาใช้บ้าง ส่วนตัวเวลาทำงานวิจัยก็ทำกับกลุ่มผู้ประกอบการตลอด เพราะรู้สึกว่ามันคือการเตรียมพร้อมอย่างหนึ่ง คือเราลงไปพัฒนาให้เขา เขามีของใหม่ๆ มีไอเทมใหม่ๆ หรือมีลายใหม่ๆ เตรียมไว้ พอตอนที่เปิดประเทศ ท่องเที่ยวได้ก็เอาออกมาเลยโชว์ได้เลย มันควรจะเป็นอะไรในแง่นั้นมากกว่า

แต่สำหรับเรา การเข้าไปหาชุมชนหรือหาชาวบ้าน เราไม่เคยทำสำเร็จเลย คือพื้นฐานตัวเองไม่ได้เป็นคนFriendly ไม่ค่อยกล้าพูดแล้วก็โฆษณาไม่เป็น ก็เคยเหมือนกันที่ไปแล้วเขาก็งง จะทำดีหรือไม่ทำดี เราก็แบบทำเถอะนะ เดี๋ยวช่วยเต็มที่

แต่เราก็เอาชนะทุกอย่างได้ด้วย Final Product จริงๆ เพราะเราไม่ได้เป็นคนพูดเก่ง แต่เรารู้สึกว่าเราทำได้ถ่ายทอดได้เราสอนคนได้ เพราะฉะนั้นเชื่อเราเถอะ

นี่แหละ! “ฐากร”

ชิ้นที่เป็นฐากรมาก ต้องเป็น Texture Inter knit แล้วล่ะครับ

1. เริ่มจากงาน Design Week ครั้งที่ 2 ทาง TCDC ใช้พลาสติกโฮโลแกรมเป็นตัวจัดงานโซน Education พอเสร็จงานก็รื้อ Event แล้วก็ทิ้งวัสดุพวกนี้เลย เราก็เลยไปขอเขามา แล้วก็ใช้ได้เยอะมาก เราเลยตั้งชื่อผ้าให้ว่าเป็นแบบ Inter knit

2. (งานสีส้ม) ตัว Material เป็นพลาสติกไวนิลสีนีออน ที่ดูโปร่งเพราะใช้เอ็นใสในการถักแทนเส้นด้าย ช่วงหลังๆ เราชอบเล่นกับของใสเหมือนเป็นธีมของปีนี้ว่าจะทำผ้าล่องหน

3. (ผ้าย้อมหิน) เป็นงานเทคนิคย้อมหินที่เป็นภูมิปัญญาของเขาผู้ประกอบการที่เขียงใหม่อยู่แล้ว เรียกว่าผ้าฝ้ายเชิงดอย เขาเอาหินสีเทา ชื่อหินว่าโมคคัลลาน มาบดจนละเอียดให้กลายเป็นผงสี มันเป็นแนวคิดการทำสีตั้งแต่สมัยโบราณที่เอาพวกแร่ธาติมาบดและเอามาย้อมผ้า ปกติแล้วเขาทำแค่ย้อมเส้นฝ้ายกับผ้าผืน แล้วเรารู้สึกว่ามันไม่ได้มีอะไรตื่นเต้น

ถ้าเราไม่ได้เรียนออกแบบ เราเห็นอันนี้ก็จะคิดว่ามันก็แค่ผ้าสีเทา แต่ถ้าเรารู้ Story ของงาน รู้ว่าสีที่ใช้ ทำมาจากหิน มันจะเป็นเรื่องมหัศจรรย์ขึ้นทันที ก็เลยพัฒนาให้ใหม่ พยายามแตกเฉดสีของหินให้มันมีหลายเฉด แล้วเอามาควั่นเกลียวทอ ใช้ด้ายหางกระรอก Signature ของ Collection จะเป็นลายนี้

จุดเด่นของงานคือสีทีได้จากกินนี้ซักเท่าไหร่สีก็ไม่ตก เราก็รู้สึกว่ามันก็ตื่นเต้น มันต้องไปได้อีก ก็ถามไปต่อว่าทำยังไงให้สีมันอ่อนลง เขาก็บอกว่าต้องใช้ยางกล้วย พอมาถึงจุดนี้ก็จุดประกายว่าเราต้องเอายางกล้วยมาทำอะไรสักอย่างแล้ว

เราให้เขาเอายางกล้วย มาผสมกับน้ำสีแล้วก็หาวัสดุธรรมชาติรอบตัวมาเป็นตัว Stamp แล้วก็มาพิมพ์ ปรากฎว่ามันง่ายแล้วก็หาได้รอบตัวไม่ได้ลงทุนเยอะเลยแล้วมันสวยจากก้านกล้วย ลูกกล้วย ต้นอ่อนกล้วย

High Brand อยู่ได้ , แบรนด์ทั่วไปตายเรียบ

ยุคหลังโควิด เรามองว่าแฟชั่นก็ยังคงอยู่ แต่อยู่แบบ High ไปเลย เพราะว่าถ้าคนที่เขาชอบแฟชั่นเขาจะมองของพวกนี้เหมือนเพชรพลอยของมีค่า เพราะฉะนั้นแบรนด์กลางๆ ถึงล่างนั่นแหละตายเรียบ

High Brand อยู่ได้ เพราะคนเก็บเป็นสมบัติ ต่อให้ไม่ได้ออกไปไหน คนมันจะซื้อยังไงมันก็ซื้อ

ของพวกนี้ก็จะเป็นกลุ่มคนรวย อันนี้เราไม่ได้มองภาพกว้าง แต่เรามองในมุมว่าแฟชั่นจะอยู่ยังไง เราก็มองเห็นว่า High Brand อยู่ได้ เพราะคนที่ซื้อให้แบรนด์เขามองของพวกนี้เป็นของมีค่าอยู่แล้วที่เขาจะเก็บ คนที่อยู่ตรงกลางหรือล่างก็คือไม่ซื้อของอยู่แล้ว

ความหวัง(ไม่)สุดท้าย

เรื่องของ SME หรือตลาดแบรนด์ในไทย จริงๆ ก็ไม่รู้ว่าจะตอบยังไงเหมือนกัน ให้ใครมานั่งคิดก็คิดไม่ออก ทุกวันนี้เหมือนกับว่าทุกเรื่องมันแก้ไปวันต่อวันมากๆ

Predict แทบจะไม่ได้เลยว่าเราจะทำอะไรยังไงกัน แม้กระทั่งเรื่องการออกจากบ้านในช่วงนี้ เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่อง Personal มากๆ เราเองไม่ได้กลัวการออกจากบ้านขนาดนั้น รู้สึกว่าถ้ามันมีความจำเป็นจริงๆ ก็ต้องออก

บางอย่างมันไม่สามารถทำในรูปแบบของออนไลน์ได้ทั้งหมด แต่การออกทุกครั้งเราต้องมั่นใจว่ามันจะปลอดภัย ต้องมีมาตรการอะไรสักอย่างที่ทำให้เราเชื่อว่าเราจะออกไปได้ ถ้าให้คิดเล่นๆ เราคิดว่าแบรนด์ SME ควรจะหาตลาดจีนหรือตลาดเมืองนอกไว้คร่าวๆ เพราะอยู่เมืองไทยยังไงก็ไปไม่รอด

ประเทศที่เจริญแล้วศิลปะจะมีค่ามากกว่านี้

แฟชั่นมันคือศิลปะแขนงหนึ่ง แล้วยิ่งในช่วงนี้คนก็ยิ่งพูดกันอีกว่า ประเทศที่เจริญแล้วศิลปะจะมีค่ามากกว่านี้ เราก็อยากให้คนไม่มองคำว่าแฟชั่นคือแฟชั่น เพราะแฟชั่นมันคืองานศิลปะที่กว่าคนคนหนึ่งเขาจะคิดออกมาได้มันหลายขั้นตอนมาก

เราก็อยากให้คนให้คุณค่ากับสิ่งเหล่านี้เหมือนซื้อรถ ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือของใช้ประจำวัน เรารู้สึกว่าโอเคกับการซื้อเสื้อผ้านะ มันคุ้มที่จะซื้ออยู่แล้ว

อยากให้คน Concern เรื่องความงามของศิลปะแขนงนี้มากกว่า Function เพราะ Function ทุกคนทำได้ แต่ความงามมันเป็นเรื่อง Personal แล้วก็ Individual มากๆ แต่ละคนก็สร้างความงามในแบบของตัวเอง เพราะฉะนั้นถ้าคนในประเทศเข้าใจเรื่องความงาม เรารู้สึกว่า Designer เองก็จะอยู่ได้อีกนาน




other story

เมื่อ PHKA STUDIO เปลี่ยนการจัดดอกไม้ 3D มาจัดดอกไม้บนผืนผ้า และใครๆ ก็ Carry ไปไหนมาไหนได้

เมื่อ PHKA Studio โคจรมาเจอกับ OMT ร่วมกันรังสรรค์เหล่ามวลดอกไม้ที่อาจจะเห็นแค่ในแจกัน ได้ออกมาโลดแล่นอยู่บนผืนผ้า Jacquard ที่เป็นเอกลักษณ์ของ OMT ออกมาเป็นกระเป๋าให้แฟนๆ ที่รักในความสุนทรียะได้พกพาไปด้วยทุกที่ กับ Collection – “The Floral Shuttle”

Explore

Gal & Erie แบรนด์เสื้อผ้าที่พาตัวเองไปอยู่ท่ามกลางศิลปะ กับ Concept “ไม่ตามใจใคร แต่ตามใจฉัน”

GAL & ERIE เป็นแบรนด์เสื้อผ้าที่ไม่ได้อยู่ในจุดใดจุดหนึ่ง แต่เป็นแบรนด์เสื้อผ้าที่พาตัวเองเข้าไปอยู่ในงานศิลปะท่ามกลางความสวยงามที่ไม่ขึ้นอยู่กับใคร (แต่ขึ้นอยู่กับฉัน)

Explore

Shopping cart0
There are no products in the cart!
Continue shopping