Pianissimo Press ผู้หลงใหลในเทคนิคการพิมพ์ยุคโบราณอย่าง Letterpress และการปรับตัวในยุคศิวิไลซ์

by The Continuum

♪ Pianissimo ♪

Pianissimo เป็นคำในภาษาอิตาลี แปลว่านุ่มนวล แผ่วเบา เป็นสัญลักษณ์ทางดนตรีอย่างหนึ่ง ซึ่งส่วนตัวไม่ได้เป็นคนเล่นดนตรีจริงจัง จะเล่นกีตาร์ในวงเหล้าซะมากกว่า*หัวเราะ

ด้วยความที่ตอนเด็กๆ เป็นคนพูดเสียงเบา เวลาพูดกับเพื่อน เพื่อนก็จะต้องเงียบและตั้งใจฟัง ก็เลยเหมือนได้ Pianissimo เป็นฉายา เลยเอาฉายานี้แหละมาตั้งเป็นชื่อ

เมย์จะรับผิดชอบเรื่องการออกแบบและการขาย ส่วนพี่เอกจะดูในเรื่องของการผลิต จริงๆ ก็ช่วยกันดู แต่ในขั้นตอนการพิมพ์ส่วนมากจะเป็นหน้าที่ของพี่เอก เราทำงานกันใน Studio เล็กๆ ที่ชื่อว่า Pianissimo Press

สตูดิโอที่ Run ด้วยโชคชะตา

การได้เครื่อง Letterpress มาของเรา เกิดจากการประมูลใน E-bay มันเป็นความจับพลัดจับผลู เราไม่คิดเลยว่าเราจะเอามาทำเป็นธุรกิจ ตอนได้เครื่องมาครั้งแรกเรายังไม่รู้เลยว่าจะใช้ยังไง ครั้งแรกกับการใช้งานเครื่องนี้คือ

เละตุ้มเป๊ะ

เพราะว่าไม่รู้วิธีการตั้งแต่การตั้งบล็อค การขึ้นหมึก ทุกขั้นตอนเลย เราอาจจะดูวิธีการทำงานจาก Youtube ได้บ้าง แต่พอเรามาทำงานจริงๆ มันจะมีหลายส่วนที่มันไม่ได้อยู่ในคลิปที่เราดู เพราะฉะนั้นเรียกได้ว่าเป็น Self Study ล้วนๆ และเป็นสตูดิโอที่ Run ด้วยโชคชะตา

Letterpress กับ วัตถุปริศนา!?

เครื่อง Letterpress เป็นเหมือนวัตถุปริศนาอย่างหนึ่ง เรารู้แค่ว่ามันมีเทคนิคนี้อยู่ แต่ไม่เคยเห็นเครื่องจริงๆ เริ่มเก็บข้อมูลจากการที่เราไปซื้ออุปกรณ์มาทดลองใช้งานเจ้าเครื่องนี้ เวลาเจอเจ้าของร้าน หรือเจอช่างสมัยก่อนแล้วเขาแนะนำมา

จากที่ค้นหาข้อมูลมา เครื่อง Letterpress ที่เคยเห็นมา มีเกิน 10 รุ่น เปลี่ยนแปลงมาค่อนข้างเยอะ มีทั้งแบบที่ใช้แรงคน และมีทั้งแบบใช้เครื่องจักรล้วน เปลี่ยนแปลงมาค่อนข้างเยอะ อาจจะต่างจากอดีตในแง่ความซับซ้อนของการทำงาน แต่ไอเดียหลักในการทำงานของเครื่องเหมือนกัน คือ ใช้แรงกด จนมาถึงรุ่นที่เป็นแท่นพิมพ์เล็กๆ ที่พิมพ์งานออกมาได้เหมือนที่ Letterpress เครื่องใหญ่ทำได้ แต่มันจะจำกัดขนาดของงาน เป็นอุปกรณ์ที่เอาไว้ใช้ทำของน่ารักๆ ซะมากกว่า

แรงคนอย่างเดียวไม่พอ?

ส่วนมากเราจะใช้การวาดมือเป็นหลัก แต่ Process หลังจากนั้น เราต้องพึ่งเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบ้างในบางขั้นตอน ทั้งการแยกสี เตรียมพิมพ์ส่งให้ร้านทำบล็อค แต่ถ้าไม่มีคอมพิวเตอร์เพื่อเตรียมงานในการสร้างบล็อค ก็คงลำบากเพราะเราก็อยากให้งานมันออกมาเนี๊ยบมากที่สุด แต่ถ้าเทคโนโลยีมันไม่มีอะไรมาช่วยให้เราทำงานดีขึ้น เราก็คงต้องลดความละเอียดของงาน และเพิ่มความละเอียดของตัวเรามากขึ้น

เราไม่ได้รักเด็กทุกคน แต่เราแค่ชอบเด็ก *หัวเราะ

พอทำงานมาสักพักเราก็เริ่มจับทางได้แล้วว่าเราชอบใช้ลักษณะท่าทางของมนุษย์ที่เป็นเด็ก ตัวตนของเด็ก การขยับที่เป็นธรรมชาติ ไม่ต้องมีการจำกัดรูปแบบหรือต้อง Carry ร่างกายให้ถูกต้องหรือเหมาะสมตามกาลเทศะ

ไม่ได้ตั้งใจจะทำงานออกมาให้น่ารัก แต่เวลาที่เราสร้างงานออกมาระดับหนึ่ง เราเริ่มเห็นตัวเองแล้วว่ามันเป็นสไตล์นี้ พอเราทำงานเยอะถึงจุดหนึ่ง มันจะเห็นภาพตัวเองว่างานเราเป็นสไตล์ไหน ทั้งประสบการณ์ทั้งเวลาที่สะสมมา มันก็จะ Shape ผลงานเราและสไตล์จนเป็นตัวเรามากที่สุด

ตัวเอกของงานอย่างน้องมะเขือม่วง เราจำไม่ได้ว่าทำไมต้องเป็นน้องมะเขือม่วง แต่เรารู้แค่ว่าเราชอบ Shape ที่โค้งแบบนวลเนียน เหมือนเวลาที่เราต้องถือน้องมะเขือม่วง เราต้องประคับประคองน้องให้ดีที่สุด ต้องมีความทะนุถนอมกับน้องมากๆ ก็เป็นวัตถุน่าเอ็นดูอย่างหนึ่ง และตอนนี้เราก็พัฒนามาเป็น Character ที่มีท่าทางให้มากขึ้น

– อนาคตต่อไปอาจจะมีน้องมะเขือยาว มะเขือพวงต่ออีกก็ไม่แน่ใจ อยากให้มีงานพิมพ์ออกมาเรื่อยๆ –

เราก็ยังเดาไม่ได้ว่ามันจะไปได้ในทิศทางไหน แค่อยากทำงานให้ต่อเนื่องมากกว่าที่เคยทำมา จริงๆ ก็อยากลองทำเทคนิคอื่นๆ เหมือนกัน ย้อนกลับไปในสมัยเรียน เวลาที่เราทำ Monoprint เราสามารถใช้อะไรก็ได้มาเป็นแม่พิมพ์ มันก็จะได้เป็นชิ้นงาน Happening ตรงนั้นเลย คิดว่าอยากลองแบบนี้กับ Letterpress

แต่เราก็ยังคงอยู่ใน Area เดิมที่เคยทำงาน อาจจะเป็นงานเด็กๆ ที่ดูแล้วทำให้รู้สึกว่า ถ้ามีเสียงในหัวก็อาจจะเป็นเสียง “งุ้ง งิ้ง คุ๊ง คริ้ง” อะไรแบบนี้ ดูแล้วสบายใจ ต่อให้เป็นการทดลองแม่พิมพ์อื่นๆ ก็ยังอยากให้งานออกมาเป็นแบบนั้น

จากสถานการณ์โควิดก็ Effect มาก แต่เรื่องโควิด…ไม่ใช่งานที่เราอยากเอามาสื่อสารผ่านงานภาพพิมพ์และในชื่อของสตูดิโอ ถ้าให้ปลดปล่อยเรื่องพวกนี้ ก็อาจจะเป็นกรุ๊ปไลน์หรือคุยกันเองน่าจะดีกว่า แต่ก็มีบ้างในอดีตที่เคยทำงานเอาสะใจ แต่เรารู้สึกว่ามันเหนื่อย แจกเท่าไหร่ก็ไม่หมด*หัวเราะ

ความชิบหายเกิดขึ้นจริง

– มันไม่มีเสียง มันจะเป็นมวลควันสีเทาอยู่ข้างๆ หูไม่ของเมย์ก็ของพี่เอก เวลาทำงานกันสองคน เราอาจจะมีความคาดหวังต่างกัน ด้วยลักษณะการทำงานที่ต่างกัน ก็ต้องมาคุยกัน แต่ละครั้งเราต้องตกลงกันหน้างานให้ได้ –

ถ้าถึงขั้นที่งานมันออกมารับไม่ได้แล้วจริงๆ เราก็จะเลือกที่จะทำใหม่หมดเลย หรือไม่ก็หยุดทำงานไปก่อน แล้วอารมณ์ดีค่อยทำใหม่ ถ้าเกิดบางงานทำแล้วมันไม่ได้แย่ขนาดนั้น แต่เราไม่สบายใจพอที่จะขาย เราก็จะเอาไว้เป็นของแจก มีของแจกเยอะมากกก

แต่ถ้าไม่มีข้อจำกัดอะไรเลยในการทำงาน เราก็อยากได้เครื่องมือที่สามารถ Undo ได้ ซึ่งมันจะทำได้เลยหรอคะ น่าจะไม่ *หัวเราะ

ไม่ได้มีเยอะนะจ๊ะ

ที่เราทำงานมาน้อยไม่ได้ตั้งใจเก็งกำไรอะไร เพียงแต่ว่าเราทำได้น้อยจริงๆ *หัวเราะ

ถ้าพูดถึงในวงการหนังสือ มันอาจจะเป็นการแจ้งจำนวนการพิมพ์ซ้ำ เพื่อสะท้อนกระแสตอบรับของผลงานนั้นๆ แต่ในวงการภาพพิมพ์อาจจะเป็นคำที่ทำให้รู้สึกว่าตัวงานชิ้นหนึ่งมีความแรร์แค่ไหน

คุณค่าของงานมันจะผกผันไปตามจำนวน Edition ยิ่งจำนวนน้อยยิ่งมีคุณมากขึ้น ถ้ามีไอเดียของการเก็งกำไร เรื่องนี้อาจจะส่งผลที่ดี เพราะการทำงานภาพพิมพ์ชิ้นหนึ่งออกมา มันไม่สามารถทำได้เยอะขนาดเท่าโรงงานอุตสาหกรรม เท่ากับว่างานภาพพิมพ์ที่ทำออกมามันไม่ได้มีเยอะนะจ๊ะ ถ้าเกิดไม่ซื้อตอนนี้อาจจะหมด

เราไม่ตั้งใจจะทำเยอะ เพราะบางงานเราทำเพื่อให้เราได้ใช้เครื่องหรือเป็นการทดลองเทคนิคใหม่ๆ มากกว่า

เทคโนโลยีให้ไม่ได้ แต่ Letterpress ให้ได้

ไม่ได้ประหลาดใจในการกลับมาของงาน Alternative Print (งานภาพพิมพ์ทางเลือก) เพราะทุกๆ เทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาแทนจุดนี้ มันก็จะมีความอิ่มตัวของงาน และมันจะมีคนที่พยายามหาอะไรที่ต่างออกไปเพื่อสร้างความพิเศษให้กับงานตัวเอง เพราะฉะนั้นของโบราณอาจจะถูกนำกลับมาเล่าใหม่ก็ได้

แต่อาจจะไม่ได้ใช้ในวิธีการหรือมีจุดประสงค์แรกของมัน แต่มันอาจจะมี Character บางอย่างที่เทคโนโลยีปัจจุบันไม่ได้ให้ หรือให้ผลลัพธ์ได้ไม่เหมือนยุคคลาสสิก แต่การได้โชว์ Process การทำงานไปด้วยมันทำให้งานชิ้นนั้นมีความพิเศษมากขึ้น

นานมาแล้ว เครื่อง Letterpress มาจากตัวอักษรที่เป็นตัวเรียงพิมพ์ คิดว่าเริ่มมาเมื่อ 1,400 ปีก่อน เป็นเทคโนโลยีการพิมพ์ที่เอาไว้เพิ่มจำนวนไบเบิลอย่างไม่บิดเบือนมากที่สุดและเพื่อให้ผลิตได้เยอะ ทำให้เนื้อหาของศาสนาไม่ได้จำกัดการเผยแพร่อยู่เฉพาะพระหรือคนชนชั้นสูง

จากยุคสมัยที่เครื่องพิมพ์ไม่สามารถเป็นสมบัติของคนทั่วไปได้โดยง่าย สิ่งที่เคยมีอยู่แค่ในโรงงานเพดานสูง ผ่านกาลเวลาเรื่อยมา จนถึงยุคที่ไม่ว่าใครก็ตามเริ่มมีอำนาจในการเขียน Text ของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งใครก็ตามที่สามารถมีเครื่องพิมพ์นี้ในบ้านตัวเอง เอามาใช้เป็น Private ได้ อาจจะนำมาพิมพ์เป็นใบปลิวต่อต้านรัฐบาลก็เป็นได้ ไม่ได้ถูกใช้เพื่อพิมพ์ไบเบิลเพียงอย่างเดียวแล้ว เพราะตอนนี้ทุกคนสามารถทำสื่อเองได้แล้ว โดยที่ไม่ได้จำกัดแค่เฉพาะกลุ่ม นั้นอาจจะเป็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของเครื่องนี้ก็เป็นได้

Communities

จริงๆ ตอนนี้ในไทยก็มีหลายเจ้าเหมือนกันที่ทำงาน Letterpress กลุ่มของภาพพิมพ์ทางเลือกมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันบ้างหลวมๆ เช่น สตูดิโอที่เป็น Letterpress เหมือนกันก็จะมีการแลกข้อมูลกันบ้าง ปรึกษากัน ขายของกันบ้าง เป็น Community เล็กๆ ของเรา

แต่เราคิดว่าเราต่างกับเจ้าอื่นๆ ในแง่ธุรกิจ เพราะของเราไม่ได้ถึงขั้นทำธุรกิจจริงจัง ของเจ้าอื่นอาจจะมีสกิลที่มาตามสูตร เขาเคยมีช่างพิมพ์เก่าแก่ แต่ของเราเป็นช่างที่ประกอบทุกอย่างด้วยตัวเอง ทำเองหมดเลย

ต่อจิ๊กซอว์จากอดีตจนถึงปัจจุบัน

ในส่วนของการทำงานจริงๆ แม้ว่าเราจะเริ่มจากการอ่านหนังสือหรือ Google เองก็ตาม แต่ว่าพอถึงขั้นที่ต้องลงมือทำเองจริงๆ ข้อมูลที่ได้กลับไม่สามารถเอามาใช้ได้ทั้งหมด เราก็ต้องถามคนที่เคยทำงานตรงนี้มา ซึ่งเด็กที่สุดที่เราเคยเจอคืออายุ 70 ปี เขาอาจจะไม่ได้ทำงานแล้วหรือเขาอาจจะหลงลืมไปแล้ว

พอมันไม่ได้ถูกถ่ายทอดเหมือนที่สามารถเรียนได้ในโรงเรียน มันก็กลายเป็นว่าคนที่อยากจะทำต่อไปในยุคหลังๆ อาจจะคล้ายกับเราคือ การต่อจิ๊กซอว์ ไม่แน่ใจว่าในโรงเรียนเชิงเทคนิคเขารักษาความรู้นี้ถึงขั้นไหน เพราะเด็กเรียนจบออกมาก็ไม่ได้เอามาใช้งาน นอกจากว่าจะอินมากและลงมือทำเองจริงๆ ก็ต้องพึ่งความรู้จากคนในอดีต แต่เอาเข้าจริงๆ พวกข้อมูลเชิงลึกหาไม่ได้จากโลกดิจิทัลเลย





other story

“ถ้าดอกไม้ไม่ได้ใส่ในแจกัน แล้วดอกไม้จะใส่ในอะไร!?” คำตอบของคนเซรามิกต่างขั้วและคำถามสุดกวนกับ Flowers in the vase

Flowers in the vase แบรนด์ที่เล่าเรื่องผ่านความสวยงามของธรรมชาติด้วยเทคนิค Nerikomi ในงานเซรามิกกับแรงบันดาลใจจากท้องฟ้าและสิ่งต่างๆ รอบตัว

Explore

The Archivist สตูดิโอที่ปฏิเสธความสมบูรณ์แบบของงานดิจิทัล กับการเก็บช่วงเวลาผ่านกระดาษด้วยเทคนิค Silkscreen

The Archivist สตูดิโอภาพพิมพ์ทางเลือกที่หลงใหลในการพิมพ์แบบ Analog กับคอนเซ็ปต์การ Archive สิ่งต่างๆ ผ่านกระดาษ ในยุค Digital

Explore

Shopping cart0
There are no products in the cart!
Continue shopping