– สภากาแฟ –
อิสรภาพเป็นกลุ่มคนที่ทำงานด้วยกัน มีทั้งหมด 4 คน
พลอย / ก๊อง จาก Ease Studio เราสองคนทำงานเกี่ยวกับ Textile
พีท เจ้าของแบรนด์ Kitt.ta.khon พีทจะเป็น Social Craft designer
อบ เป็นเจ้าของสตูดิโอชื่อ SATAWAT ทำงานเกี่ยวกับ Industrial Design
***********
ในตอนแรกทั้ง 4 คนเรียนจบมาทำงานของใครของมัน แต่นอกเหนือจากเวลาทำงาน เราชอบไปที่ร้านกาแฟของรุ่นพี่คนหนึ่ง เป็นสถานที่ที่เราได้คุยกันแบบสภากาแฟ เราก็ได้ปรึกษาหารือกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Design เป็นแบบไหนบ้าง ไป ๆ มา ๆ ก็มีประเด็นเรื่องที่เราสนใจแล้วก็อยากจะพูดแต่ว่ามันไม่เคยถูกพูดในงาน แล้วก็อยากทำอะไรที่เราอยากดูแต่ไม่มีคนทำ
เป็นเหมือนเรื่องส่วนตัวมาก ๆ ที่เราต้องการพูดในวงการออกแบบ เรารู้สึกว่ารูปแบบนิทรรศการที่เราเห็นกันตอนที่เราเรียนจบมา มันไม่ใช่สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้เราเรียนดีไซน์เหมือนตอนเราเด็ก ๆ เลย เราก็เลยรู้สึกว่าอยากหยิบอะไรบางอย่างที่เกี่ยวกับดีไซน์ที่เราชอบมัน ที่เรารู้สึกอินกับมัน มาเล่าในวิธีการของเรา
เมื่อประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว เราคุยกันเรื่องว่าอิสรภาพจะทำอะไร ด้วยพื้นฐานความเชื่อเดียวกัน เราไม่ได้เชื่อว่าดีไซเนอร์ต้องถูกเชิดชูว่าเป็นดีไซเนอร์ เพราะทุกคนก็สามารถเป็นนักออกแบบได้ เราเริ่มจากการทำ Photo Document เริ่มจากการถ่ายรูปสิ่งต่าง ๆ ตามท้องถนน หลังจากนั้นก็ปรับดีไซน์มาเป็นเฟอร์นิเจอร์ครั้งแรก อย่างเช่น โต๊ะหินขัด ปูนแท่งที่กั้นที่จอดรถ
งานเฟอร์นิเจอร์ที่เรา 4 คนที่ร่วมกัน ครั้งแรกพวกเราได้ไปโชว์ที่ ITP เลย (Thailand International Furniture Fair) มีคนที่เข้าใจในสิ่งที่เราต้องการจะการสื่อสารมากเกินความคาดหมาย เลยรู้สึกว่าเรื่องตรงนี้มันน่าจะเอามาทำอะไรต่อได้
อิสรภาพเริ่มเปลี่ยนทิศทางเพราะคิดว่า รูปแบบของนิทรรศการมันน่าจะเข้าถึงคนได้ง่ายเข้าถึงคนได้มากขึ้น ก็เลยทำ Design week ตอนแรกก็ทำที่เชียงใหม่ 2-3 ปี พอกรุงเทพฯ จัดงานแล้ว ก็เริ่มกลับมาจริงจังที่กรุงเทพฯ มากขึ้น
**************
“CURATOR”
– สนุกนะ แต่เราแค่ไม่ชอบชื่อตำแหน่งภัณฑารักษ์เลย งานที่เราทำมันเป็นงานกึ่งรับเหมาด้วยซ้ำ –
ในหนึ่ง Exhibition เราทำทุกอย่าง ตั้งแต่ Set up วันเปิดหรือแม้กระทั่ง Event เรารู้สึกว่ามันเป็น Experience ที่เราได้ลงมือทำ ถึงแม้ว่าเราเริ่มจะเห็นหน้าที่ชัดเจนมากขึ้นว่า Curator คืออะไร ผู้รับเหมาคืออะไร แต่จนถึงตอนนี้ เราก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นภัณฑารักษ์หรือ Curator อะไรเลย
แต่การนำเสนอผลงานของเรา มันก็คือ Curator แหละ แต่ในความรู้สึกลึก ๆ เราไม่ได้เป็น Curator เราไม่เคยเรียนเรื่องนี้และเราก็ไม่รู้ว่าคนคนนี้ทำงานอะไรบ้าง เราแค่ทำหน้าที่เหมือนเพื่อนคนหนึ่งที่อยากชวนเพื่อนที่เหลือมาคุยกัน
“เราอยากทำให้คุณเกิดประกายอะไรสักอย่างในตัวคุณแค่นั้นพอแล้ว บางทีมันอาจไม่ต้องยิ่งใหญ่ เพราะอิสรภาพไม่ใช่คนที่จะมาขับเคลื่อนวงการดีไซน์ บางทีเราเรียกตัวเองว่านักออกแบบเรายังเขินเลย เพราะเราไม่ได้มั่นใจขนาดนั้น”
เราเป็นแค่ 4 คนที่คุยกัน แล้วถามคนอื่นว่าคิดยังไง รู้สึกยังไงบ้าง เราไม่ได้คิดถึงขั้นว่าคุณต้องเชื่อในสิ่งที่เราเลือกมาเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุด สิ่งที่เราจัดขึ้นมา…มันเป็นสิ่งแค่เรื่องส่วนหนึ่งที่เราคุยกัน
เราอยากให้ทุกคนไปย้อนดูว่า ตั้งแต่ที่เราทำงานมาเราไม่เคยทำงานแค่ 4 คนเลย เราเริ่มชวนคนอื่นมาคุย ให้ทุกคนสามารถพูดในมุมของเขาได้ อีกเรื่องที่เราเชื่อคือ…เวลาเราชวนคุยเรื่องอะไรเราจะชวนคุยแค่เรื่องเดียวเพราะรู้สึกว่าการคุยเรื่องเดียวไปพร้อม ๆ กันมันจะทำให้คนได้พัฒนาตัวเองได้เร็วขึ้น
” ทุกคนสามารถมองในมุมเดียวกันและทำให้ความเห็นไม่สะเปะสะปะ ทั้งคนเริ่ม คนที่มาร่วม และคนที่มาดู เรารู้สึกว่าทุกคนได้อะไรที่หลากหลายมากขึ้น ในคนดูเราก็เชื่อว่าคนดูได้พัฒนาเหมือกัน “
ก้าวต่อไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่
TCDC มาชวนให้ทำโปรเจค Academic Pavilion (หน้ากากแห่งอนาคต) โดยตอนแรกคือการให้มหาวิทยาลัยส่งผลงานมา แล้วเลือกเอาผลงานนักศึกษามาโชว์ที่บูธ ทาง TCDC ก็เลยถามว่า อิสรภาพอยากเป็นคน Curated งานนี้ไหม? ตอนแรกเราก็ตั้งใจว่าจะไม่ทำ จึงลองเสนอไอเดียว่ามันน่าจะเป็นแบบไหนบ้าง TCDC ก็โอเคที่มันไม่ใช่เป็นแค่เอางานเก่ามาโชว์
– พื้นที่การจัดแสดงงานนักศึกษามันสำคัญนะ มันเป็นเหมือนแรงบันดาลใจให้เด็กอีกรุ่นต่อ ๆ ไปเหมือนกัน –
พวกเราทุกคนเคยไปงานแฟร์ที่มิลาน แล้วก็ไปดูโซนงานนักศึกษา หรือว่าโซนที่มันเป็น Talent เราเห็นงานของพวกเขาและเรารู้สึกว่ามันคือสิ่งที่ทำให้คนรู้ว่า นี่แหละคืออาชีพหนึ่งที่จะไปได้ไกลกว่านี้
แต่พอเรากลับมาดูงานที่ประเทศไทยมันไม่ใช่เลย พวกเรารู้สึกว่างานนักศึกษาน่าสนใจมากนะ แต่ว่าบางทีรูปแบบหรือวิธีการจัดแสดงมันทำให้งานดูน่าเบื่อ เหมือนแค่เอางานที่นักศึกษาทำมาโชว์เฉย ๆ เพื่อโปรโมทมหาวิทยาลัย…คนไม่ได้สนใจแก่นจริง ๆ ของงานนักศึกษาว่าเขาเก่งแค่ไหน ทำได้แค่ไหน เรารู้สึกว่ามันไม่ได้โชว์จริงๆ
**********
หน้ากากแห่งอนาคต
เราต้องหาโจทย์ที่ทุกคนมีประสบการณ์ร่วมกัน ซึ่งตอนนั้นไม่รู้ว่ามันคือข้อดีหรือข้อเสีย เพราะเราได้โจทย์มาต้นปี 2020 ที่เพิ่งเริ่มมี Covid รอบแรก เราก็เลยเอาโจทย์นี้มาทำงาน แต่ด้วยความที่เวลามันน้อยมากและถูกเลื่อนงานออกไปอีก งานนี้จึงได้มาจัดตอน Covid รอบที่ 3 ก็คือรอบนี้
เพราะฉะนั้นหน้ากากจึงเป็น Issue ที่น่าสนใจมาก และเป็นเรื่องที่ทุกคนน่าจะจดจำได้ในช่วงระยะเวลานี้
หลังจากประชุมเสร็จเราก็รู้สึกว่า Design Week ก็ใจแคบไปนิดนึง ถ้าเรียกเฉพาะนักศึกษาออกแบบมาประกวดเท่านั้น เราคิดว่า Design Week มันเป็นงานของคนทั่วไป ไม่ใช่ให้เฉพาะคนที่เรียนออกแบบเราต้องมาดูงาน เราอยากชวนนักศึกษาทุกคนมาคุยเรื่องเดียวกัน
เราเลยขอ TCDC ไปว่า..เราไม่อยากจำกัดคณะที่เกี่ยวกับการออกแบบหรือคณะที่เกี่ยวกับศิลปะมาประกวดเท่านั้น งานนี้เราส่งไปทุก ๆ คณะ ทุกมหาวิทยาลัยที่จะสามารถส่งไปได้ ไม่ว่าจะเป็นคณะหมอ ดนตรี วิศวะ กฎหมาย อักษร พอเราเปิดใจมากขึ้นมันก็จะสนุกมากขึ้น ยิ่งถ้ามีคนหรือกลุ่มวิจัยที่ได้มาเห็นและนำสิ่งนี้ไปต่อยอดหรือสร้างให้เกิดขึ้นจริงได้ มันก็น่าจะดีนะ
เราอยากให้นักศึกษาออกแบบทุกคนได้เห็นด้วยว่า มันเป็นไปได้ว่าคนที่ไม่ได้เรียนด้านนี้โดยเฉพาะแต่เขาสามารถทำได้
– ผลงานของเด็กที่ไม่ได้จบดีไซน์ แต่คนตัดสินเป็นคนทำดีไซน์ –
แม้ว่าคนที่ส่งเข้ามาประกวดส่วนใหญ่เป็นสายเรียนดีไซน์ แต่ก็ยังพอมีคณะอื่นหลุดเข้ามาบ้าง สำหรับเราคนที่ตัดสิน ต่อให้เรียนหรือทำงานในวงการดีไซน์มาก็ตาม เขาไม่ได้มองมุมเดียวอยู่แล้ว ทุกคนที่อยู่ตรงนี้เขามีความรู้เรื่องดีไซน์เยอะกว่าเฉย ๆ แต่ไม่ใช่ว่าเขาไม่มีความรู้ส่วนอื่น
บางคนที่ส่งเข้ามาประกวดพูดเรื่องเดียวกันซะส่วนใหญ่ เราจะหาคนที่พูดเรื่องนั้นได้ดีกว่า เราต้องการความหลากหลายเพราะจุดประสงค์หลักอย่างที่บอกไป เวลาเราทำ Exhibition เราต้องการให้คนหมู่มากเข้าถึง และได้ประโยชน์จากที่เราจัดงานนี้
อีกเรื่องคือเราเลือกนักออกแบบผลิตภัณฑ์ แต่ต่างสายกัน มาเป็นคนตัดสิน ผลงานที่ส่งเข้ามาในรอบนี้ เราต้องการแค่ function basic ที่แค่ปกป้องเราจากมลภาวะได้ เรารู้สึกว่าเรื่องนั้นมันต้องถูก Work on ต่อในอนาคตแน่นอน เราอยากได้ไอเดียที่มันน่าสนใจพอ หรือเป็นการตีความหมายของ Object หนึ่ง ในอีกมิติหนึ่ง
– Exhibition นี้เป็นเหมือนแค่สารตั้งต้น เพราะว่าวันหนึ่งถ้าหมอได้เห็น หรือนักลงทุนได้มาเห็นเห็นว่าไอเดียนี้มันเวิร์ค เขาอาจจะเอาไปพัฒนาต่อจริง ๆ ก็ได้ –
ที่เราจัดงานประกวดครั้งนี้เราไม่ได้พูดถึงว่าการประกวดนี้คือที่สุด เราแค่คุยกันว่าการประกวดคือวิธีการหนึ่งในการสื่อสารเท่านั้นเอง เราไม่ได้บอกว่าถ้าคุณชนะการประกวดนี้ควรจะดังและดีที่สุด ซึ่งทุก ๆ คนที่ส่งเข้าประกวด เราอยากให้ทุกคนรับคอมเมนต์จากกรรมการ เพื่อเป็นไอเดียในการพัฒนาต่อไป โดยทั้งหมดเราต้องปรับจากออฟไลน์เป็นออนไลน์ เราจะต้องคุยกันอัดวีดีโอไว้แล้วก็ส่งคอมเมนต์ไปให้ทุกคน
อยากให้ 30 หน้ากากที่เข้ารอบได้พูดหลาย ๆ เรื่อง
เนื้อหาของหน้ากาก เข้มข้นมาก ประทับใจ แต่สุดท้ายเราก็ต้องเลือกที่เล่าเรื่องได้มากกว่า
ตอนแรกจะไม่เอาเรื่อง Politics มาใส่ในเกณฑ์การประกวด แต่เราแจ้ง TCDC ไว้แล้วว่า เราขออิสรภาพทางการออกแบบหรือการ present งานนี้ ว่ามันต้องเกี่ยวเนื่องกับการเมืองด้วย เพราะมันควรจะพูดเรื่องพวกนี้ได้ เราเชื่อว่าทุกคนคิดไม่เหมือนกันได้อยู่แล้ว แต่เราเชื่อว่าทุกคนเท่ากัน
เด็ก ๆ หลายคนก็สอดแทรกเรื่อง Politic เข้ามากันเยอะ เรามองว่าเด็ก ๆ ก็เก่งเหมือนกัน เพราะเขาไม่ได้นำเสนอ Politics แบบตรง ๆ เขามีนัยยะแอบแฝงเข้ามาในงานของเขา ไม่ได้มีหน้ากากที่เป็นรูปชูสามนิ้วมาเราก็สบายใจ เด็ก ๆ ก็จะมีเรื่องที่เขาอยากพูด และจะทำประมาณนี้ แต่อินเนอร์มันก็คือเรื่องนั้นแหละ
อิสรภาพพยายามยกทุกคนให้เท่ากัน ให้เกียรติกันไม่ว่าคุณจะเป็นใคร เรายังเชื่อว่ายังมีคนที่เก่งมาก ๆ แต่ถูกมองข้ามไป หรือเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งที่เขาทำมาคือมันเป็นสิ่งที่เรียกว่าเก่งมาก เราแค่อยากนำเสนอแบบนั้น
Exhibition
งานยังต้องจัดออฟไลน์อยู่ ซึ่งตอนแรกจะจัดที่ไปรษณีย์กลาง แต่ถูกเลื่อนวันและเลื่อนสถานที่ไปจัดที่สามย่านมิตรทาวน์แทน งานนี้ก็เสี่ยงตายเหมือนกัน เราไม่ได้คาดหวังให้คนไปดูหรือว่าอะไร เพราะยังไงเราก็จะจัดงานออนไลน์ผ่านเว็บไซต์อยู่ดี ใครสนใจก็เข้าไปดูได้ฟรีได้ผ่านออนไลน์
ด้วยช่วงเวลาการโปรโมทกิจกรรมค่อนข้างสั้นมาก ซึ่งถ้าเราได้มีโอกาสทำปีต่อ ๆ ไป เราสามารถวางแผนโครงการได้มากกว่านี้ แต่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาได้มีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น วิธีคิด ผ่านผลงานการออกแบบ
การทำงานของอิสรภาพคือการเก็บข้อมูลอยู่แล้ว ทุก Exhibition ที่ผ่านมา เราทำหนังสือเก็บภาพไว้เป็นความทรงจำ เราค่อนข้างที่จะเคารพภาพถ่ายที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นการบันทึกเรื่องราว ทั้งของเราและทุกคนมาร่วมสนุกกับเรา
เราโชคดีมากที่ครั้งนี้จะทำให้ภาพถ่ายเป็นแค่ตัวโปรโมท แต่กลายเป็นว่ามันคือหนึ่งในแพลตฟอร์มที่เราต้อง Exhibit ด้วยกัน ก็เลย Happy ที่มันเป็นแบบนี้และถูกใช้งานแบบนี้ เพื่อให้มันดู official จริง ๆ
**********
เราคิดว่าอิสรภาพเป็นบ้า
เราคิดว่าเราเป็นเหมือนคนชอบชวนเพื่อนกินเหล้า กลุ่มคนที่ต้องการ Deep Talk คือเราไม่รู้ว่าคนที่ทำอะไรแบบนี้เรียกว่าอะไร คุณจะเรียกเราเป็นอะไรก็ได้ Content provider, Curator, คนจัด Exhibition, ผู้รับเหมา หรืออะไรก็ได้ เราคิดว่ามันไม่มีคำจำกัดความของคนที่เป็นบ้าแบบนี้
Tag Line เป็น Content based Design Studio เราออกแบบและทำงานตาม Content ใครจะจ้างเราทำงานแบบไหนก็ได้ แต่เรารู้สึกว่ามันมีคำว่าดีไซน์เป็นตัวกำหนด เพราะมันคือสกิลที่เราทั้ง 4 คนมี เราถ่ายภาพไม่เก่ง เราทำธุรกิจไม่เก่ง แต่เราใช้กระบวนการคิดและก็การถกเถียงกัน และดีไซน์ที่เป็น Base ของทุกอย่างที่เราทำงาน
จริง ๆ เราทำมาหลายงานมาก แต่ไม่ใช่ออกไม่ออกสื่อ แต่เราออกสื่อไม่เก่งเท่านั้นเอง
นี่อาจจะเป็นข้อเสียของทั้ง 4 คนก็ได้ เราไม่กระตือรือร้นที่จะโปรโมทตัวเองขนาดนั้น เพราะเราคิดว่าสิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ มันก็คือเรื่องที่เราทำกันมาอยู่แล้ว แล้วทำไมต้องมาเล่าเรื่องนี้ให้คนอื่นฟังว่าฉันกำลังทำสิ่งนี้อยู่ ซึ่งจริง ๆ แล้ว ก็กลับมาที่เราโปรโมทตัวเองไม่เก่งนั่นแหละ