“ประเทศห่าอะไรวะ ห้างเยอะชิบหาย”
พี่แมว ประกิต กอบกิจวัฒนา
กล่าวไว้ในช่วงหนึ่งของการสัมภาษณ์
บทความต่อไปนี้ ถึงแม้จะเขียนเกี่ยวกับศิลปิน “เอียงซ้าย” แต่บันทึกภาพด้วยช่างภาพ “เอียงขวา”, และเขียนโดย นักเล่าเรื่อง ที่ทุกวันนี้ ชักจะไม่แน่ใจ ในสเปคตรัมทางสังคมและการเมืองของตัวเองว่ามันเอียง ซ้าย ขวา หน้า หลัง บน ล่าง อย่างไรกันแน่แล้ว
แต่ ซ้าย หรือ ขวา ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ของการลาก พี่แมว ประกิต หรือ ศิลปินผู้ถูกขนานนาม (และยอมขนานนามตัวเอง) มานั่งคุย ในชั่วโมงยาม ที่เหตุบ้านการเมืองมีความคับขันแบบทุกวันนี้ว่า
“ลิเบอรัล จำอวด”
พื้นที่ของงาน “ศิลปะกับการเมือง” ต่างหาก ที่ครั้งนี้ ทีมงาน The Continuum อยากจะพาเข้าไปสำรวจ ภูมิทัศน์ของศิลปะแห่งการแซะ ประท้วง ส่อเสียด เรียกร้อง ทั้งฝั่งซ้าย ฝั่งขวา ในโลกบริโภคนิยม ที่หมุนไปด้วย ทุน ทุน ทุน และ ทุน
“แม้กระทั่งความสุขเล็กๆน้อยๆ
แม่งยังอยู่บนห้างเลย”
พี่แมวเสริม
ปฎิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยของเรานั้น มีห้างสรรพสินค้า มากมายจริงๆ และแทบทุกกิจกรรมของคนในสังคม มีให้เลือกบริโภคได้บนห้าง และห้างของไทยก็ล้วนแต่ ออกแบบ เลือกสรรค์ ประสบการณ์ สินค้า กิจกรรม มาได้สนุกสนาน เพลิดเพลิน เก๋ไก๋ ชนิดที่ว่า สามารถใช้ชีวิต เดินตากแอร์ ได้ทั้งวี่วัน ทั้งครอบครัว
Duane Hanson คือหนึ่งในศิลปินชาวอเมริกัน ที่เคยวิพากย์วิจารณ์ วัฒนธรรมของการ “ช้อปปิ้ง” และ บริโภคนิยมไว้ ผ่านงานศิลปะ ที่เป็นรูปปั้นคนขนาดเท่ามนุษย์จริง กำลังวางท่า อิริยาบท เหมือนชีวิตประจำวันของชาวอเมริกันร่างอวบท้วม ที่นั่งทานอาหาร ซื้อของในซุปเปอร์มาร์เก็ต จนล้นตะกร้าเข็นของ
สิ่งที่มันชวนให้ขบคิด และหลอนสายตาคือ รูปปั้นเหล่านี้ ไม่ว่ามันจะถูกปั้นมาให้เหมือนมนุษย์มากแค่ไหน สิ่งที่มันไม่เหมือน และไม่มีวันเหมือนได้ คือแววตา ที่ไร้วิญญาณของรูปปั้น ราวกับว่า Duane Hanson พยายามจะสะท้อนให้เห็นภาพของ นักช้อป นักบริโภคนิยม ไร้วิญญาณ ที่ถูกสาปมาให้ช้อป ช้อป ช้อป จนไม่หลงเหลือซึ่งสายตาที่เปี่ยมชีวิต
Andy Warhol ศิลปินป๊อปอาร์ต ระดับตำนาน เอง ก็เคยทำงานภาพพิมพ์ ของสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันที่พบเห็นได้ง่ายๆในทุกซุปเปอร์มาร์เก็ต เช่น กล่องแฟ้บ กระป๋องซุป ขวดโค้ก และวัตถุอื่นๆ อีกมากมาย ที่สะท้อนให้เห็นถึง ความสำเร็จรูป ง่าย เร็ว ด่วน ของชีวิตมนุษย์ในโลกบริโภคนิยม
งานของ พี่แมว ประกิตเอง ได้รับอิทธิพลของการสร้างงานในลักษณะ ส่อเสียด หรือ Satire โดยใช้สิ่งรอบตัวง่ายๆ มาใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารเช่นกัน และหลายครั้ง พี่แมวก็ใช้วิธี “Hack” งานศิลปะของคนอื่น ให้กลายเป็นงานศิลปะเชิงส่อเสียดสำเร็จรูปอีกทีเสียด้วยซ้ำ ตั้งแต่ กระป๋องซุป แคมป์เบลล์ จนไปถึงลิ้นแล่บ ของ The Rolling Stone พี่แมว ทดแทนงานศิลปะของชาวบ้าน ด้วยการเพิ่ม Copy Writing แซะ เสียดแทง จิกกัด ที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จัก เช่นวลี “อยู่เมืองดัดจริต ชีวิตต้องป๊อป” เข้าไปในงาน เป็นต้น
“อาหารสมองที่รายรอบต่างหาก
ถึงจะสร้างคนให้มันแข็งแรง”
พี่แมวกล่าว ถึงการพัฒนาเมืองในฝันของเขา ที่มีพิพิธภัณฑ์มากกว่าห้างสรรพสินค้า
“มาริลิน มอนโร ไทป์”
ผมบลอนด์ หน้าอกตู้ม ปากแดงอวบอิ่ม เปี่ยมเสน่ห์ทางเพศ — ครั้งหนึ่ง ชาวอเมริกันผลิตซ้ำ ภาพของสาวงามในอุดมคติ ผ่านฮอลลีวู้ด จนผู้หญิงอเมริกันครึ่งประเทศ ล้วนแต่อยากจะสวยเหมือน มาริลิน มอนโร และนั่นก็เป็นเหตุผลให้ Andy Warhol หยิบเอา ความงามสำเร็จรูป แบบมอนโร มาใช้เป็นสัญลักษณ์ ของวัฒนธรรมสวยทันที แบบอเมริกันชน
“กุลสตรีไทย” เริ่มมีการผลิตภาพมากขึ้น ในสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ด้วยหลักฐานของหลังสือคู่มือ การเป็นเมีย การเป็นแม่ การทานอาหาร การทำกับข้าว มากมายก่ายกอง ที่ล้วนสะท้อนภาพ สตรียุคสร้างชาติ ที่ปฎิเสธไม่ได้ว่านิยามของ กลุสตรี หรือ ผู้หญิงดี นั้นยังมีบทบาทและอิทธิพลของวิธีคิดของคนไทยมาจนถึงยุคปัจจุบัน
การป้ายความผิดให้ ผู้หญิงที่แต่งตัวโป๊ที่โดนลวนลามทางเพศ ถือเป็นผลของการริดรอนสิทธิส่วนบุคคล และเป็นผลผลิตของการผลิตภาพ ผู้หญิงดี ซ้ำไปซ้ำมา ไม่รู้กี่ยุคกี่สมัย
Fast Forward มาที่ประเทศไทยในปี 2020 เราก็อาจจะยังปฎิเสธไม่ได้ว่า ประเทศเราเอง ก็มีพิมพ์นิยม ของความงานตามอุดมคติแฝงอยู่ในทุกอนูของการใช้ชีวิต ตั้งแต่ การงอกเป็นดอกเห็ดของคลินิคศัลยกรรม จนไปถึงธุรกิจพันล้านของครีมทาผิวขาวหรือ Whitening
สาวไทย รวมถึงหนุ่มไทย จากครั้งหนึ่งที่เคยมี ตะวันตก เป็นต้นแบบของความงาม ปัจจุบันนี้ มันคือ โคเรี่ยนลุค ที่หล่อหลอมวัฒนธรรมบันเทิงร่วมสมัย ยึดครองตลาดความงาม แบบที่เราเองก็อาจจะทั้งรู้ตัว และไม่รู้ตัว การเมือง จึง “ฝัง” อยู่ในทุกเรื่อง เพราะมันสะท้อนให้เห็นถึงค่านิยม ข้อตกลงพื้นฐานร่วมกันของคนในสังคม — เรื่องความสวยความงามเองก็หนีไม่พ้น
“คุณคิดว่าประเทศนี้ มันผลิตหนังสือที่เกี่ยวกับความสุขสำเร็จรูป กี่ล้านเล่ม”
พี่แมว อธิบายลวดลายหนึ่งของเขา ที่เขียนว่า ความสุขสำเร็จรูป พร้อมกับชี้ให้เห็นถึงการเติบโตของวัฒนธรรม Life Coach ในประเทศไทย
ดราม่าของไลฟ์โค้ช มีโผล่มาให้เห็นบ่อยๆในสังคม แต่ก็ไม่ได้ทำให้ค่านิยมของการตามหาความสุข ความสำเร็จ ความหมายของชีวิต ของผู้คนในสังคมน้อยลงแต่อย่างใด แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องการเมืองอีกเช่นกัน
จากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนที่มีโอกาสได้ไปศึกษาต่อและใช้ชีวิตในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ที่มีระบบการปกครองแบบรัฐสวัสดิการ ที่มีการเก็บภาษี 30 เปอร์เซ็นต์ เรียนฟรีจนถึงปริญญาเอก ระบบขนส่งสาธารณะดีเยี่ยม เมียลาคลอดก็ยังได้เงินเดือนเต็มตลอดทั้งปี — การตั้งคำถามเรื่อง “ความสุข” หรือ วงล้ออิคิไก ของชาวสแกนดิเนเวียนนั้น ต่างจากคนไทย ผู้ซึ่งรถเมล์มาไม่ตรงเวลา ปล่อยควันดำแต่รัฐบาลตรวจสอบแล้วไม่เจอ จนไปถึง คนไทยผู้ซึ่งมีไฮโซ ลุกขึ้นมาแต่งตัวสวย พร้อมถ่ายรูปลงนิตยสาร แล้วบอกว่า ฝันอยากเป็นกระเป๋ารถเมลล์ — ต่าง — อย่างเห็นได้ชัด
ต่างตรงที่เขาไม่ต้องดิ้นรนตามหา เพราะความเท่าเทียมกัน มันอำนวยให้หาคำตอบได้ด้วยความพากเพียรพยายามของตัวเอง ภายใต้กฎ กติกา ที่แฟร์พอ ที่จะแข่งขัน และมีชีวิตที่ดีได้ เหมือน หรือใกล้เคียงกับคนอื่นๆในสังคม
“พื้นที่ของการแสดงความคิดต่างบนงานศิลปะ
แม่งเป็นพื้นที่ที่ ศิวิไลซ์ ที่สุดเลย”
พี่แมว อธิบายถึงผลงานสามชิ้นของเขา ที่ว่าด้วย การชวนให้ฉุกคิด คิดเหมือน คิดต่าง อย่างไรก็แล้วแต่ ผ่านงานศิลปะแบบ Satire ที่พี่แมว เลือกมาให้แบรนด์ One More Thing ทอผ้าของพี่แมว แบรนด์ One More Thing เลือกที่จะทอให้ผิวสัมผัส มีความกรอบ เหมือนถุงพลาสติกสีรุ้งตามสำเพ็งให้มากที่สุด แต่ก็ยังคงใส่โครงสร้างลายทอ ที่ให้ความรู้สึกหรูหรา ด้วยด้ายรีไซเคิล เพื่อเสริมความย้อนแย้ง ตามแบบฉบับของพี่แมว
“ก็ต้องหวังกับคนรุ่นใหม่เนอะ
เพราะมันหวังกับคนรุ่นเก่าไม่ได้แล้ว”
คำตอบของพี่แมว จากคำถามของทีมงาน The Continuum ว่า ถ้าลูกของพี่แมว เกิดมีรสนิยมทางการเมืองฝั่งตรงข้ามจะรู้สึกอย่างไร
จากหลายชั่วโมงที่คุยเรื่อง Pop Art, และ Satire Art กับพี่แมว — The Continuum มีภาพงานศิลปะชิ้นหนึ่งผุดขึ้นมาในหัว — งานชิ้นนั้นคือ Michael Jackson and Bubbles, 1998 ที่เป็นประติมากรรม รูปเหมือนของ The King of Pop กับลิงชิมแปนซี เพื่อนรักของเขาที่ชื่อว่า Bubble ในชุดสไตล์หางเครื่องสีทอง
ถึงแม้ว่า Jeff Koons จะยืนยันว่า งานส่วนมากของเขาน่ะ ไม่ได้มีความหมายอะไรซ่อนอยู่ลึกซึ้งหรอกนะ — แต่เราอดคิดไม่ได้ ว่าในบริบทของ การเมืองและงานศิลปะ — ไมเคิลแจ๊คสัน ผู้ซึ่ง ณ ตอนนั้น ได้ผ่านการทำศัลยกรรมความงามมานับครั้งไม่ถ้วน ที่กำลังโอบอุ้ม ลิงชิมแปนซี ที่เป็นต้นกำเนิดของเผ่าพันธ์ุมนุษย์ ในองค์ประกอบที่คล้ายกับ งานประติมากรรมในศาสนาแล้วนั้น — ใครกันแน่ คือชิมแปนซี ใครกันแน่คือ The King of Pop? ใครกันแน่ที่กำลังถูกโอบอุ้ม?
“ถ้าคุณโตไปด้วย กรอบที่รุ่มร่ามไปหมดน่ะ คุณจะไปโลกใหม่ได้ยังไง”
พี่แมวทิ้งท้าย ให้เรากลับไปคิดและตีความกันกันเอาเอง ว่าโลกใหม่ มันหน้าตาเป็นอย่างไร แล้วเราอยากจะไปโลกนั้นกันหรือไม่ ?!